บทความน่ารู้
พาเลทเหล็กที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยนับว่ามีการเติบโตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นเพื่อให้ระบบการผลิตจากต้นทางไปสู่ปลายทางที่ดี จำเป็นจะต้องมีตัวช่วยในการเคลื่อนย้ายสินค้า จัดเก็บสินค้า และขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องสินค้าไม่ให้เสียหายและทำให้ขนย้ายสะดวกรวดเร็ว โดยอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญไม่น้อยก็คือ “พาเลทเหล็ก” นั่นเอง
พาเลทเหล็กเหมาะกับงานประเภทใด
พาเลทเหล็ก (Steel Pallet) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการใส่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ได้ทุกประเภท โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมหนักหรืออุตสาหกรรมรถยนต์ รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ ที่ต้องเคลื่อนย้ายสิ่งของและผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมาก ๆ ตัวอย่างเช่นอะไหล่รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
ข้อดีของการใช้พาเลทเหล็ก
ผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มักเลือกใช้พาเลทเหล็ก ด้วยเหตุผลทางด้านความคงทนแข็งแรง มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ต้องกังวลว่าจะผุพังแตกหักกรอบง่ายหรือมีมอดปลวกให้รำคาญใจ ไม่ก่อให้เกิดเชื้อรา อีกทั้งยังทนต่อความร้อนและสารเคมีได้เป็นอย่างดี สามารถวางของจำนวนมากซ้อนกันและรับน้ำหนักเยอะ ๆ ได้
ชนิดของพาเลทเหล็ก
สำหรับรูปแบบของพาเลทเหล็กที่โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปนิยมใช้ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบคือ
- แบบ 2 ทาง (Two – way) กำหนดทิศทางการเข้าตักได้ 2 ทาง
- แบบ 4 ทาง (Four – way) กำหนดทิศทางการเข้าตักได้ทั้ง 4 ทาง คือ ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้างซ้าย และด้านข้างขวา
นอกจากนี้ยังมีทั้งแบบมีปีกเพื่อให้สามารถคล้องสลิงที่เหมาะกับงาน Stevedore โดยจะมีทั้งแบบปีกด้านเดียวกับปีกสองด้าน พื้นแบบตีชิดกับพื้นแบบตีห่าง แต่ชนิดใดจะเหมาะกับงานแบบไหนก็ให้พิจารณาถึงสิ่งของที่จะใส่พาเลทเป็นหลักสำคัญ
พาเลทไม้ พาเลทพลาสติก หรือพาเลทเหล็กดีกว่า
การที่โรงงานจะเลือกใช้พาเลทรูปแบบใดนั้น ควรคำนึงถึงความต้องการและการนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะต้องช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด
ถ้านำไปใช้กับการรองสิ่งของที่มีน้ำหนักไม่มากนักให้เลือกพาเลทพลาสติก หากเป็นสิ่งของที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาอีกก็ให้เลือกพาเลทไม้ ส่วนสิ่งของที่มีน้ำหนักเยอะ ๆ มีขนาดใหญ่ และต้องการความทนทานแข็งแรงอย่างคุ้มค่าก็ควรจะเลือกพาเลทเหล็ก
ทั้งนี้พาเลทเหล็กที่เราจะนำมาใช้งานจะต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานการผลิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบดีไซน์ การเชื่อมต่อระหว่างชิ้นส่วน ขนาด และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ต้องมีความเหมาะสมและแข็งแรงดี ไม่มีร่องรอยขูดขีดหรือบิดโก่งโค้งงอ สิ่งสำคัญคือต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าตามกฎหมาย เพื่อความมั่นใจและความพึงพอใจก่อนที่จะนำไปใช้งาน